วันที่ (25 พ.ย. 63) ที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว. ทส.) จับมือภาคีเครือข่าย 6 องค์กร สนับสนุนการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นำร่องบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม ประเภทกระป๋องอลูมิเนียม ด้วยการหมุนเวียนนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างครบวงจร เพื่อการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ส่งเสริมการผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มที่สามารถรีไซเคิลได้ ระหว่าง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย นายสุรชัย อจลบุญ อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ร่วมกับ ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ประธานมูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (3R) นายประธาน ไชยประสิทธิ์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล นายสาโรช ชยาวิวัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการบริษัทไทยเบเวอร์เรจแคน จำกัด Mr.Christopher Richard Hirst, CEO and President of Anglo Asia Trading Co., Ltd. และ Mr.Hironori Tsuchiya, President of UACJ (Thailand) Co., Ltd. โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. ร่วมเป็นสักขีพยาน ซึ่งทั้งหมดจะต้องร่วมกันจัดทำ Roadmap ให้แล้วเสร็จ ภายใน 60 วัน นับจากนี้
ภายใต้ MOU ที่เกิดขึ้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จะทำหน้าที่สื่อสาร รณรงค์ สร้างความรู้ความเข้าใจ สนับสนุนการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริม พัฒนา และสนับสนุนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนสนับสนุนองค์ความรู้ สารสนเทศ และนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ภาคเอกชนและภาคประชาชนในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเฉพาะการผลิตบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลได้ ขณะที่ กรมควบคุมมลพิษ จะให้ข้อแนะนำ คำปรึกษา สนับสนุนองค์ความรู้และข้อมูลวิชาการในการนำไปสื่อสารและจัดการระบบรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจร รวมทั้งประสานและสนับสนุนการขยายความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแสวงหาความร่วมมือกับต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาการบริหารจัดการระบบรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรให้มีประสิทธิภาพและทันสมัยในส่วนของมูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (3R) จะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมและประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รวมถึงองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและสื่อสาธารณะ ร่วมผลักดันการพัฒนาและการบริหารจัดการระบบรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรให้สอดคล้องตามหลักการ 3R และการหมุนเวียนทรัพยากรเพื่อการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริม สนับสนุน และผสานความร่วมมือโครงการนำร่องพัฒนาแนวทางการบริหารจัดการระบบรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์จากอลูมิเนียมในประเทศไทย ตลอดจนสร้างแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนฐานข้อมูล ข่าวสาร ข้อคิดเห็น และการหารือร่วมกัน รวมทั้งติดตามประเมินผล แก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เพื่อปรับปรุงการพัฒนาความร่วมมือด้านการบริหารจัดการระบบรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย จะเป็นตัวแทนของสมาชิกสมาคมฯ ให้การสนับสนุนข้อมูลและข้อเท็จจริง และข้อคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตและการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ของผู้ประกอบการ ร่วมพัฒนานโยบายและแนวทางการจัดการบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน รวมทั้งประสานและชี้แจงข้อมูล สื่อสารให้สมาชิกฯ ได้รับทราบ ดำเนินการติดตาม ประเมินผล และขยายผลการดำเนินงาน ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนสมาชิกของสมาคมฯ ในการเป็นผู้นำพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ที่ดีต่อวัฎจักรและการบริหารจัดการระบบรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ในประเทศไทย รวมทั้งส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างแรงจูงใจ รณรงค์ และเผยแพร่ข้อมูลแก่ผู้บริโภค ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการคัดแยกบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มตั้งแต่ต้นทาง
ขณะที่ มหาวิทยาลัยมหิดล จะทำหน้าที่พัฒนาองค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรมด้านการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์ของประเทศไทย ให้คำปรึกษาด้านวิชาการเพื่อนำมาใช้ประโยชน์และต่อยอดการพัฒนาแนวทางการดำเนินงานฯ สนับสนุนการขับเคลื่อนการบริหารจัดการระบบรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรในประเทศไทย และการพัฒนาการบริการวิชาการเพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ทุกภาค
ส่วนสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการในระบบการจัดการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์จากวัสดุอลูมิเนียม ๓ บริษัท ได้แก่ บริษัท ไทย เบเวอร์เรจแคน จำกัด บริษัท แองโกล เอเซีย เทรดดิ้ง จำกัด และ บริษัท ยูเอซีเจ (ประเทศไทย) จำกัด จะเป็นผู้นำพัฒนานวัตกรรมด้านการผลิตและกระบวนการรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์จากวัสดุอลูมิเนียม ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ การผลิตบรรจุภัณฑ์ และการเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วเพื่อขับเคลื่อนการสร้างและพัฒนาการบริหารจัดการระบบรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมแบบครบวงจร ยกระดับธุรกิจและการให้บริการด้านการซื้อขายบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมที่ใช้แล้วและนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างเป็นระบบเพื่อลดผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร เครื่องมือ และเทคโนโลยีด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์จากการรีไซเคิลวัสดุเพื่อผลิตบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลที่มีมูลค่าและคุณภาพดี ควบคู่กับการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสมและยั่งยืน
โดยทั้ง 3 บริษัทฯ จะร่วมกันผลักดันการพัฒนาการบริหารจัดการระบบรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์จากอลูมิเนียมแบบระบบปิดครบวงจร (100% Closed – Loop Aluminum Recycling) ตลอดจนสนับสนุนข้อมูล และเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้แก่ทุกภาคส่วนด้านการบริหารจัดการระบบรีไซเคิลบรรจุภัณฑ์จากวัสดุอลูมิเนียมและความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์อลูมิเนียมทั้งระบบ